วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เครื่องจักสาน บางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง



     เครื่องจักสาน เป็นงานศิลปหัตถกรรมอย่างหนึ่ง คิดค้นขึ้นโดยมนุษย์เพื่อใช้สร้างเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ผลิตขึ้นโดยการสอด ขัด และสานของวัสดุที่มีลักษณะเป็นเส้น เป็นริ้ว เพื่อให้ได้ลวดลายที่สวยงาม และเพื่อให้เกิดความคงทนของเครื่องจักสาน

ประวัติความเป็นมาเครื่องจักสานบางเจ้าฉ่า



    การทำเครื่องจักสาน ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยสมัยก่อนจักสานเป็นภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตะกร้า กระบุง ป้านน้ำชา ของทีใช้ดักจับสัตว์ ต่อมาได้ดัดแปลงมาเป็นของใช้ที่ทันสมัย เช่น กระเป๋า เป็นต้น ใช้เป็นของกำนัลให้กับผู้ใหญ่ เพื่อนสนิทในวันสำคัญต่างๆ ทางราชการจึงถือเอาเครื่องจักสานเป็นคำขวัญประจำจังหวัด ต่อมาได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จักสานเป็นรูปทรงอื่นๆ และรูปแบบใหม่ ให้มีความทันสมัย ทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในต่างประเทศและต่างประเทศ
    ผลิตภัณฑ์มีความประณีต สวยงาม รูปแบบมีการผสมผสานระหว่าง
ภูมิปัญญากับเอกลักษณ์ความเป็นไทย ลวดลายมีการปรับประยุกต์โดยนำลายผ้ามาผสมผสานใส่ในตัวผลิตภัณฑ์ ช่วยเพิ่มความแตกต่างและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น สีสันมีความหลากหลาย ออกไปในแนวคลาสสิก


วัตถุดิบที่ใช้

1. ไม้ไผ่นวล

2. หวายหอม

3. ลูกปัดไม้

4. ผ้าไหม

5. สายยาง

6. มีด ( มีดโต้ใช้สำหรับผ่าไม้ มีดตอกใช้สำหรับจักตอกและหลาวเส้นตอก )

7. เลื่อย ใช้สำหรับเลื่อยตัดไม้

8. เลียด ใช้ในการปรับแต่งเส้นตอก เส้นหวายให้เท่ากัน

9. เหล็กหมาด ใช้ในการเจาะรูเพื่อใช้หวายผูกและพัน

10. แบบ ใช้สำหรับเป็นแบบเพื่อให้รูปแบบได้มาตรฐาน

      จัก เป็นการเตรียมวัสดุที่จะใช้ในการจักสาน โดยนำวัสดุมาทำให้เป็นเส้น เป็นแฉก หรือเป็นริ้ว เพื่อความสะดวกในการสาน ลักษณะของการจักจะขึ้นอยู่กับลักษณะของวัสดุแต่ละชนิด ซึ่งจะมีวิธีการเฉพาะที่แตกต่างกันไป เช่น วัสดุที่นำมาจักนั้นเป็นไม้ไผ่ หวาย มักเรียกว่า ตอก และการจักตอกไม้ไผ่โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะคือ จักตามแนวไม้ไผ่โดยมีผิวไม้เป็นส่วนแบน เรียกว่า ตอกพื้น ส่วนอีกลักษณะหนึ่งจะจักโดยมีผิวไม้เป็นส่วนสันตอกเรียกว่า ตอกตะแคง นอกเหนือจากตอกไม้ไผ่สองลักษณะนี้แล้ว อาจจะมีตอกที่จัก เหลา เป็นเส้นกลม ๆ หรือลักษณะอื่น ๆ ตามความต้องการที่จะนำตอกชนิดนั้น ๆ ไปใช้
    สาน เป็นขั้นตอนถัดจากการจัก ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เป็นขบวนการทางความคิดสร้างสรรค์และฝีมือของมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งมีมาช้านานแล้ว และสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน การสานของคนไทยนั้นถือได้ว่าเป็นความรู้พื้นบ้านพื้นเมืองสืบต่อกันมาโดยการถ่ายทอดให้กันในครอบครัว ชนิดพ่อสอนลูก โดยมิได้มีการร่ำเรียนกันอย่างจริงจัง และไม่มีการจดบันทึกเป็นตำรับตำราแต่อย่างใด ซึ่งรูปทรงและลวดลายบางอย่างยังคงไว้แต่บางอย่างอาจมีการปรับแต่งให้เข้ากับยุคสมัย แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ มักจะเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ ชนิดค่อยเป็นค่อยไป การสานของคนไทยนั้นจะสานด้วยรูปแบบและลวดลายแบบใดขึ้นอยู่กับลักษณะการนำไปใช้งานและความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีการสานได้หลากหลาย เช่น ถ้าต้องการภาชนะที่มีตาห่าง ๆ เช่น ชะลอม เข่ง ก็มักจะสานด้วยลายเฉลว เป็นต้น นอกจากนี้ชื่อเรียกของลวดลายในแต่ละท้องถิ่นก็อาจจะเรียกแตกต่างกันออกไปแม้จะเป็นลายเดียวกันก็ตาม
การสานเครื่องจักสานโดยทั่วไปแล้ว อาจจำแนกออกเป็นลักษณะใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
1. การสานด้วยวิธีการสอดขัดกัน
2. การสานด้วยการสอดขัดกันด้วยเส้นทแยง
3. การสานด้วยวิธีขัดเป็นวง
      การถักเป็นกระบวนการที่เข้ามาเสริมหรือช่วยทำให้เครื่องจักสานดูเรียบร้อยสมบูรณ์มากขึ้น เป็นการเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างภายนอก เช่น ขอบ ปาก ก้น ของเครื่องจักสาน โดยมักจะใช้วัสดุที่เป็นเส้นอ่อนและมีความยาวพอสมควร ถักหรือผูกยึดโครงสร้างภายนอกให้ติดกับผนังของเครื่องจักสาน ลักษณะของการถักหรือการผูกขอบภาชนะโดยทั่วไปก็จะมีรูปแบบเฉพาะของการถักแต่ละแบบ เช่นเดียวกับแบบของลายสาน ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มความสวยงามของเครื่องจักสานไปในตัว การถักแม้จะเป็นขั้นตอนเสริมแต่ก็เป็นกระบวนการที่ขาดไม่ได้ของเครื่องจักสานหลายชนิด
     อย่างไรก็ตาม การจักตอกเป็นงานขั้นแรกที่สำคัญในการทำเครื่องจักสาน เพราะลักษณะของตอกจะต้องประสานกับลวดลายและรูปทรงของเครื่องจักสานด้วย นอกจากนี้การเลือกสรรวัสดุที่ดีก็มีผลต่อความคงทนและความประณีตสวยงานของเครื่องจักสานด้วย




     คุณค่าของเครื่องจักสาน
คุณค่าของเครื่องจักสานคือ คุณค่าทางศิลปะ และความงาม เครื่องจักสานหลายชนิด มีรูปทรง โครงสร้าง และลวดลายที่ลงตัวงดงาม คุณค่าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเครื่องจักสานไทย คือ คุณค่าในการแสดงออกทางอารมณ์ และจิตใจของช่างพื้นบ้าน เครื่องจักสานหลายชนิดของไทย สานอย่างละเอียดประณีต ซึ่งแสดงให้เห็นอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนของผู้สานได้เป็นอย่างดี และความละเอียดประณีตนั้น เริ่มตั้งแต่การแปรรูปวัตถุดิบ เช่น การจักตอก และเหลาหวายให้เป็นเส้นเล็กๆ เพื่อใช้สานและถักส่วนที่ต้องการความละเอียดประณีตของเครื่องจักสาน จนถึงการสานเป็นลวดลายซับซ้อนอย่างลายดอกพิกุล หรือลายสานของเครื่องจักสานย่านลิเภา เป็นต้น

      นอกจากนี้ ดิฉันได้เข้าไปถึงบ้านของคุณพรชัย บุญรื่น นอกเหนือจากเป็นศุนย์จำหน่ายหรือผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานแล้ว ทั้งนี้ยังเปิดเป็นโฮมสเตย์ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับชุมชนที่ก่อตั้ง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา บรรพบุรุษของชุมชน ชื่อนายฉ่า เป็นผู้ที่ร่วมกับชาวแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ และชาวบางระจันต่อสู้กับพม่าภายหลังการสู้รบยุติลง นายฉ่าจึงได้นำชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือนขึ้นในชุมชนด้านทิศตะวันตก ของลุ่มแม่น้ำน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ แต่เดิมเรียกว่า "บ้านสร้างสามเรือน" เพราะเริ่มแรกมี บ้านเพียงสามหลัง ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บางเจ้าฉ่า" ตามชื่อของบรรพบุรุษ พร้อมไปด้วยกิจกรรมมากมาย แหล่งท่องเที่ยงอื่นๆอีกด้วย

ติดต่อ : คุณพรชัย บุญรื่น
ที่อยู่ : 77 หมู่ 8 ต.บางเจ้าฉ่า อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง 14120
โทรศัพท์บ้าน : 035 - 692 - 110
โทรศัพท์มือถือ : 089 - 243 - 7690


รูปภาพ








เครื่องจักสานบางเจ้าฉ่า






  แหล่งอ้างอิงข้อมูล
http://www.tatsuphan.net/Ajaksan.html 
https://www.gotoknow.org/posts/166648 






จัดทำโดย
นางสาวปุณยนุช   อยู่สอาด รหัส 5708174 
คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต